เพลงพระราชนิพนธ์ เกษตรศาสตร์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 ซึ่งจัดว่าเป็น 1 ใน 3 สถาบันการศึกษาที่พระองค์ได้พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ให้เป็นเพลงประจำสถาบัน โดยอีก 2 เพลง ได้แก่ เพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์ พระราชทานให้เป็นเพลงประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2492 และเพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทองที่พระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2506
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์ ได้เล่าไว้ในเกร็ดการประพันธ์ว่า
เนื้อเพลงแรกของผู้เขียนคือ ใกล้รุ่ง ใช้เวลาแต่งเพียงชั่วโมงครึ่ง และเนื้อเพลงสุดท้าย คือ เกษตรศาสตร์ นั้นเวลาผ่านไปเกือบปีหนึ่งยังไม่สามารถขึ้นต้นได้ เพราะ
จนทำให้ผู้เขียนแหยงว่าไม่มีทางประพันธ์ให้ไพเราะใกล้เคียงกับเพลงนั้นได้ จนมีพระราชดำรัสถามถึง ทำให้ผู้เขียนต้องรีบประพันธ์ขึ้นมาได้
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรเลงครั้งแรกในวันทรงดนตรีกับวงดนตรีสากลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU Band) เมื่อ 17 ธันวาคม 2509 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต นำความปิติปลาบปลื้มแก่คณาจารย์ นิสิต ตลอดจนบุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นับแต่นั้นเป็นต้นมา
เนื่องจากเพลงประจำสถาบันทั้งสามแห่งมีความไพเราะแตกต่างกัน และสะท้อนภาพลักษณ์ของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งได้ชัดเจน ดังที่มีพระราชดำรัสถึงการแต่งเพลงประจำสถาบันไว้ว่า
...เรื่องเพลงที่แต่งขึ้นใหม่นี้ต้องขอชี้แจงไว้นิด ฟังแล้วอาจจะตกใจ เพราะว่าเพลงที่ประจำมหาวิทยาลัยในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ ก็มีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ของธรรมศาสตร์ที่ได้ให้ทั้งสองเพลงนี้ กับเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี้ ต้องบอกว่ายาวเท่ากัน ไม่ต้องอิจฉาว่าของเขายาวกว่าหรือสั้นกว่ายาวเท่ากัน แล้วก็การสร้างเพลงนี้ก็สร้างในแบบเดียวกัน ไม่ต้องต้องอิจฉาอะไร แล้วก็บอกว่าชอบ ถ้าไม่ชอบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อาจจะแก้ไข อย่างไรก็ตามแต่ก็มีอย่างหนึ่งคือ เพลงของจุฬาฯ เขาก็บอกว่าเพลงของเขาเพราะที่สุด ถ้าไปถามชาวธรรมศาสตร์ ว่าเพลงไหนเพราะที่สุด เขาก็บอกว่า เพลงธรรมศาสตร์ แล้วก็ถ้าถามพวกเกษตรน่ากลัวบอกเพลงเกษตรเพราะกว่า ก็เลยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนะ แต่ว่าเพลงของจุฬา ฯ เขาโอ้อวดว่าสง่าผ่าเผยมาก แล้วก็เพราะมาก ถ้าพูดถึงเพลงธรรมศาสตร์เขาก็บอกว่า องอาจดี เดินก็ได้ จุฬาฯ เขาก็ตอบว่า ของเขาก็เดินได้เหมือนกัน เป็นเพลงสำหรับนำแถวได้ เพลงของเกษตรนี้ก็ที่จริงก็ควรจะตัดสินเอาเองว่า เป็นยังไง แต่ความคิดส่วนตัวของผู้แต่ง รู้สึกว่าเป็นเพลงที่อ่อนหวาน อ่อนหวานกว่าเพลงโน้น แต่อ่อนหวาน นี่ไม่ได้หมายความว่าไม่เข้มแข็ง แต่อ่อนหวานนี่อาจจะมีความหมายได้ว่า ผลิตผลของทางการเกษตรรวมทั้งผลไม้หรือสิ่งที่บริโภค ถ้ารสหวาน รู้สึกว่าดี เพราะว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ข้าวโพดหวานเขาก็ชอบ ก็เลยคิดว่า เพลงหวานไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปเดินสำหรับนำแถวก็อาจจะได้เปลี่ยนแปลงไปหน่อย ก็อาจจะเป็นเพลงสำหรับแตรวงเดินก็อาจจะพอได้ แต่ขออย่างเดียวอย่าเดินขบวน...
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เพลงพระราชนิพนธ์_เกษตรศาสตร์